ชายหนุ่มอายุ 19 ปี ได้คิดค้นวิธีการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล

บทความโดย : Justine Alford
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


จากที่ได้เขียนไปในบทความก่อนหน้านี้ว่ามีชายหนุ่มอายุน้อย ได้เดินหน้าโครงการเก็บกวาดขยะในมหาสมุทรแปซิฟิค และในบทความนี้ผมจะย้อนเวลากลับไปเมื่อเขายังอายุ 19 ปี ที่แนวคิดของเขาถูกนำมาสร้างเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง และโครงการ The Ocean Cleanup ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

พลาสติก คือวัสดุที่มีราคาถูกนำมาใช้ได้หลากหลายแต่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มนุษย์ผลิตพลาสติกขึ้นมาใช้ราวๆ 300 ล้านตันต่อปี และหากนับตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปี 2014 รวมกันแล้ว เราผลิตพลาสติกขึ้นมามากถึง 6 พันล้านตันเลยทีเดียว พวกมันทั้งอุดตันท่อระบายน้ำ ทั้งปนเปื้อนอยู่ในดิน แม้กระทั่งในธารน้ำแข็งอาร์คติกก็ยังพบเศษพลาสติก มันก่อมลพิษให้กับมหาสมุทรและคุกคามชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ล่าสุดมีผลการสำรวจพื้นผิวใต้ทะเลบริเวณนอกชายฝั่งยุโรปออกมา พบว่ามีขยะกระจายอยู่บนพื้นใต้ทะเลที่ความลึก 4.5 กิโลเมตร

ขยะพลาสติกในทะเลเป็นสิ่งที่พวกเราต้องตระหนักถึงผลกระทบของมัน เพราะมันส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในท้องทะเล และจากการคาดการณ์พบว่าจะมีนกทะเลกว่า 1 ล้านตัว ที่ต้องตายแต่ละปีด้วยขยะพลาสติก สาเหตุที่พวกมันตายก็มีทั้งกินเข้าไป หรือไปอุดตันระบบหายใจ  ไม่เพียงแต่นกทะเลเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบเช่นนี้ สัตว์ทะเลอื่นๆ ก็เช่นกัน และมันยังสร้างความเสียหายกว่า 1.27 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี ให้กับการประมง และเรือที่เสียหายจากขยะเหล่านั้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเก็บขยะปริมาณมหึมาออกจากทะเลด้วย

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะมีองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า The Ocean Cleanup ก่อตั้งโดยชายหนุ่มที่มีอายุเพียง 19 ปี ชื่อ Boyan Slat เขาเชื่อว่าพวกเขามีวิธีที่จะกำจัดขยะออกไปจากทะเลได้ จากการศึกษาเรื่องนี้มานานนับปี พวกเขาได้คิดค้นวิธีกำจัดขยะจากทะเลที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน จากข้อมูลวิธีการกำจัดและทรัพยากรที่พวกเขามี เมื่อนำไปคำนวณด้วยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์แล้วพบว่า ภายใน 10 ปี จะสามารถกำจัดขยะในแพขยะแปซิฟิกได้มากถึง 50%


ภาพถ่ายทางอากาศของแพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

แล้วทำได้ยังไงล่ะ? วิธีการกำจัดขยะของพวกเขานั้นจะพึ่งพากระแสน้ำและทิศทางลม ซึ่งเป็นวิธีการที่สะอาดที่สุดและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะขณะที่ทำการเก็บกวาดขยะ พวกเขาจะใช้แผงกั้นลอยน้ำในการดักจับและรวบรวมขยะจากทะเล เพื่อลดความเสี่ยงในการเผฃอจับสัตว์น้ำขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างเช่นวิธีการใช้ตาข่าย อาจจะมีสัตว์น้ำติดขึ้นมาได้

พวกเขาได้ทดสอบวิธีการเก็บขยะของพวกเขาครั้งแรกที่เกาะ Azores เพื่อทดสอบว่าแผงกั้นลอยน้ำของพวกเขานั้นใช้ได้ผล หลักจากที่เก็บขยะขึ้นมาได้พบว่าขยะส่วนหนึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นวัสดุต่างๆ รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อทำรายได้สนับสนุนพวกเขาได้อีกด้วย

โครงการทำความสะอาดมหาสมุทรนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิดไว้ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูงมาก พวกได้ประมาณค่าใช้จ่ายได้ราวๆ 31.7 ล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) ฟังดูเหมือนมันจะแพงมากและพวกเขาคงทำต่อไม่ไหว แต่ว่ารายจ่ายที่ว่านั่นถูกกว่าวิธีการกำจัดขยะแบบปกติถึง 33 เท่า และเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้เหลือน้อยที่สุด โครงการ The Ocean Cleanup จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการวิจัยต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทเอกชน เพื่อที่จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบิน และกินพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งอาจใช้งบประมาณขั้นต้นถึง 2 ล้านเหรียญ

ในขณะที่โครงการทำความสะอาดนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล Slat ได้เน้นย้ำในเนื้อหาข่าวว่า “ถึงแม้ว่าการทำความสะอาดครั้งนี้มันจะได้ผล แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือการหยุดทิ้งและหยุดปล่อยให้ขยะไหลลงสู่ทะเล”

อ้างอิง :
19 Year Old Develops Machine To Clean The Oceans Of Plastic
The Ocean Cleanup
http://plasticsoupnews.blogspot.com

หนุ่มอายุ 20 ปี จะเริ่มการ Big Cleaning มหาสมุทรในปี 2016 นี้

บทความโดย : Morenike Adebayo เมื่อ 1 มิ.ย. 2015
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


มนุษย์ได้สร้างขยะพลาสติกกว่า 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งขยะพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับสภาพแวดล้อมที่ต้องรองรับพวกมัน อย่างเช่นกรณีที่มีชิ้นส่วนพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้นโดยประมาณ กำลังลอยอยู่ในมหาสมุทรในตอนนี้ พลาสติกเหล่านี้กำลังคุกคามสื่งมีชีวิตในทะเล พวกมันอาจจะกินหรือดูดชิ้นส่วนพลาสติดเหล่านั้นเข้าไปในร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ และพลาสติกที่พวกมันกินเข้าไปอาจทำให้พวกมันตายได้ และดูเหมือนว่าการจะกำจัดพลาสติกเหล่านี้มันเป็นอะไรที่มโหฬารและมีค่าใช้จ่ายที่เยอะมากๆ แต่ชายหนุ่มอายุ 20 ปี คนหนึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องมีทางออก

Boyan Slat ผู้ก่อตั้งและ CEO โครงการ The Ocean Cleanup ได้ประกาศว่าองค์กรของเขาจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในปีหน้า เพื่อการกำจัดพลาสติกให้หมดไปจากทะเล

โครงสร้างของเครื่องที่เขาจะใช้ในการกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรนั้น ถูกออกแบบให้ลอยอยู่ในทะเลได้เป็นเวลานานมากๆ เศษขยะทั้งหลายจะถูกลำเลียงผ่านสายพานขนส่งที่ยาวกว่า 2,000 เมตร โครงการ The Ocean Cleanup จะเริ่มปฏิบัติการที่นอกชายฝั่งของญี่ปุ่นในต้นปี 2016 นี้ และอาจใช้เวลาปฏิบัติการถึง 2 ปี

“การดูแลและแก้ไขปัญหาขยะในทะเลเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับมนุษย์ในตอนนี้ เป้าหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่กำจัดขยะตามแนวชายฝั่งให้หมดไป เป้าหมายที่แท้จริงก็คือการกำจัดแพขยะขนาดยักษ์ในแปซิฟิค ” Slat กล่าว “การเริ่มปฏิบัติการครั้งนี้จะทำให้เราได้ทราบถึงทรัพายากรที่ต้องใช้ทั้งหมดในโครงการ”

แต่งานหลักของเขาไม่ได้มีเพียง The Ocean Cleanup เพียงอย่างเดียว ยังมีโครงการย่อยชื่อว่า The Mega Expedition โดยโครงการนี้จะทำแผนที่ขยะในมหาสมุทรขึ้นมา และจะเริ่มปฏิบัติการสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะทำการปล่อยเรือจากท่าเรือในฮาวาย ประกอบไปด้วยเรือกว่า 50 ลำ เดินทางผ่านแอ่งขนาดใหญ่จากฮาวายถึงแคลิฟอร์เนีย กินพื้นที่กว่า 3,500,000 ตารางกิโลเมตร ของมหาสมุทรแปซิฟิค โดยมันจะทำการเก็บข้อมูลปริมาณขยะระหว่างทางแล้วนำไปรวมกับค่าที่วัดได้ย้อนหลัง 40 ปี

ลิ้งค์อ้างอิง : 20-Year-Old To Launch World’s First Ocean Cleaning System In 2016
Featured Image Credit : exergynews.com

นักวทิยาศาสตร์คาดการณ์ว่าน้ำแข็งบนเขาเอเวอร์เรสต์​อาจจะหมดไปภายในศตวรรษนี้

บทความโดย : Josh L Davis
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


การปีนเขาที่เทือกเขาหิมาลัย คือสิ่งที่หลายๆ คนอยากจะทำ และด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอันเนื่องมาจากธารน้ำแข็งที่กัดเซาะหุบเขา ตั้งแต่ยอดเขาลงมาจนถึงเนินเขาด้านล่าง และธารน้ำแข็งนั้นไม่เพียงแต่ขัดเกลาภูมิประเทศให้สวยงาม แต่มันยังส่งผลไปถึงวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย แต่จากที่ทราบกันอยู่แล้วว่าถ้าเรายังเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลกันอย่างไม่บันยะบันยัง เฉกเช่นที่เรากำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ ความสวยงามเหล่านี้คงจะอยู่ได้อีกไม่นาน

มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้สร้างแบบจำลองการสูญเสียน้ำแข็งขึ้นมา เฉพาะในเขตภูเขาเอเวอร์เรสต์เท่านั้น ยังไม่รวมเทือกเขาหิมาลัยทั้งหมด เมื่อพวกเขาได้ทดลองใส่ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก  และอัตราการเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลงไป พบว่าปริมาตรของธารน้ำแข็งที่ลดลงไปอาจมากถึง 70% ถึง 99% ของธารน้ำแข็งทั้งหมด และดูเหมือนว่าเอเวอร์เรสต์จะเริ่มสูญเสียน้ำแข็งขนาดมหึมาในทศวรรษหน้านี้

“สัญญาณบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในอนาคตในเขตนี้มันชัดเจนแล้ว และอัตราการสูญเสียน้ำแข็งอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเหมือนที่ได้คาดการณ์ไว้ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ” Joseph Shea ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจาก International Centre for Integrated Mountain Development ได้กล่าวไว้ ในรายงานผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงบนนิตยสาร The Cryosphere

นั้นหมายความว่ามันคือเรื่องที่ใหญ่โตมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ธารน้ำแข็งดังกล่าวนั้นมีปริมาณน้ำแข็งมากที่สุดจากธารน้ำแข็งทั่วโลก ถ้าไม่นับรวมธารน้ำแข็งที่ขั้วโลก และทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของมันจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะในเรื่องของน้ำกินน้ำใช้ น้ำที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และการเกษตร “ในบรรดาธารน้ำแข็งทั้งหลายที่อยู่รอบๆ เอเวอร์เรสต์นี้ มีธารน้ำแข็งหนึ่งชื่อว่า Dudh Kosi น้ำที่ละลายมาจากธารน้ำแข็งนี้ จะรวมกันเป็นแม่น้ำ Kosi และการที่ธารน้ำแข็งหายไปนั้น มันส่งผลกระทบต่อเขตลุ่มแม่น้ำแน่นอน” Shea อธิบายเพิ่มเติม

และการที่ธารน้ำแข็งละลายยังเป็นสาเหตุของหิมะถล่ม แผ่นดินไหว และเกิดทะเลสาบขึ้น ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้เขื่อนหลายเขื่อนบริเวณนั้นพังทลายได้ ในขณะเดียวกันธารน้ำแข็งที่ละลายจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแถวนั้นเพิ่มมากขึ้นถึง 100 เท่าจากปกติ นั่นอาจหมายถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ประชากรท้องถิ่นที่นี่ได้ฝากชีวิตไว้กับน้ำที่ละลายมาจากธารน้ำแข็งเพื่อที่จะอยู่รอดในฤดูแล้ง เพื่อรอฤดูมรสุมกลับมาอีกครั้ง ในขณะที่น้ำในแม่น้ำก็มากพออยู่แล้วจากการละลายของน้ำแข็ง Shea บอกว่านั่นจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 50 ปี ของสถานีอากาศในเขตดังกล่าว เพื่อทดสอบและเปรียบเทียบว่าโปรแกรมพยากรณ์ของพวกเขาทำนายได้ถูกต้องหรือไม่ และได้นำข้อมูลเหล่านี้มาช่วยเพิ่มความแม่นยำของโปรแกรม จากนั้นพวกเขาได้ใส่ค่าอุณภูมิในปัจจุบันลงไป พบว่าจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ทั้งปริมาณหิมะ ฝน และอัตราการละลายของน้ำแข็ง

“เพื่อตรวจสอบความแม่นยำของโปรแกรมนี้ เราได้ใส่ค่าอุณหภูมิย้อนหลังเพื่อเปรียบเทียบถึง 8 ค่าด้วยกัน และยังเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในอดีตกับอุณหภูมิในตอนนั้นอีกด้วย” Walter Immerzeel ผู้เขียนร่วมในการศึกษาครั้งนี้จากมหาวิทยาลัย Utrecht University ประเทศเนเธอแลนด์ พวกเขาพบว่าในปี 2100 น้ำแข็งจะหายไปจนเกือบหมด

ลิ้งค์อ้างอิง : Scientists Predict Everest Could Be Ice-Free By The End Of This Century

หน้าตาของแต่ละประเทศเมื่ออยู่บนมหาทวีป Pangea

บทความโดย : Morenike Adebayo เมื่อ 29 พ.ค. 2015
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


ลองจินตนาการว่าคุณกำลังเดินทางจากประเทศจีนไปยังสหรัฐอเมริกา ผ่านแคนนาดา บราซิล และอินเดียโดยที่ไม่ต้องผ่านทะเลเลย มันคงจะดีมากเลย แต่เสียใจด้วยเพราะคุณพลาดโอกาสนั้นไปแล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน และเมื่อวันเวลาผ่านไปนับล้านปี มหาทวีปแพนเจียก็ไต้แตกออกเป็นทวีปต่างๆ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ต้องขอแสดงความขอบคุณไปยังคุณ Massimo Pietrobon ที่สร้างแบบจำลองขึ้นมา ทำให้เราได้เห็นทวีปแพนเจียก่อนที่มันจะแตกตัวออกเมื่อ 200 ล้านปีที่แล้ว จนกลายเป็นทวีปและประเทศในปัจจุบัน

สามารถคลิกเข้าไปดูภาพขนาดใหญ่ได้ที่รูปข้างล่างนี้เลยครับ


มหาทวีปนี้ถูกล้อมรอบโดยอภิมหาสมุทรทรที่เรียกว่า “พันธาลาสซา” โดยแผ่นดินส่วนใหญ่จะอยู่ที่ซีกโลกใต้ซึ่งดูไม่เหมือนปัจจุบันที่แผ่นดินส่วนใหญ่อยู่บนซีกโลกเหนือ

หลักฐานที่บ่งบอกว่าโลกเคยมีทวีปแพนเจียมาก่อน ก็คือการค้นพบฟอสซิลที่มีลักษณะเหมือนกัน อย่างเช่นฟอสซิลของ เทอแรปซิด ไลซ์โตรซอรัส และลักษณะของหินที่คล้ายคลึงกัน ระหว่างชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาใต้ และชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา

ธารน้ำแข็งที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าละลายช้า แท้จริงแล้วมันละลายเร็วกว่าที่คิด

บทความโดย : Janet Fang เมื่อ 22 พ.ค. 2558
จาก : www.iflscience.com
แปลโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย


     ณ คาบสมุทร Antarctic Peninsula ที่ขั้วโลกใต้ กำลังประสบกับปัญหาการสูญเสียมวลน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว ธารน้ำแข็งในบริเวณดังกล่าวเริ่มไม่เสถียรตั้งแต่ปี 2009 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมามันละลายเร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้นเรื่อยๆ ตามที่บทความวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ได้ตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้บอกว่า น้ำ 56 พันล้านตัน ถูกเติมลงสู่มหาสมุทรทุกๆ ปี

Screen Shot 2558-05-25 at 02.44.56
(ภายในกรอบสีแดงคือบริเวณที่เรียกว่า Antarctic Peninsula)

     ภายใน 20 ปีที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในเขตอบอุ่นได้บางลงถึง 1 ใน 5 ของความหนาทั้งหมดของมัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักวิจัยได้เปิดเผยว่าธารน้ำแข็ง Larsen C หนึ่งในธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอนตาร์คติกา กำลังบางลงเรื่อยๆ จากอากาศและน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น และดูเหมือนว่ามันจะพังทลายลงทั้งหมดภายในหนึ่งศตวรรษ

     มวลของธารน้ำแข็งส่วนที่ยื่นออกไปในทะเล ที่คาบสมุทร Antarctic Peninsula เป็นตัวช่วยที่สำคัญมากในการค้ำจุนธารน้ำแข็งที่อยู่บนบกให้ไหลลงสู่มหาสมุทรช้าลง และธารน้ำแข็งที่เบาบางลงนั้น อาจจะทำให้แรงเสียดทานที่ว่าลดลงไปด้วย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะธารน้ำแข็งเหล่านั้นกองทับกันอยู่บนแผ่นหินที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และมันยังเอียงเข้าไปในแผ่นทวีปอีกด้วย นี่แหละที่สำคัญ เพราะนั่นหมายความว่าธารน้ำแข็งจะไหลกลับเข้าไปในแผ่นดิน จากนั้นน้ำทะเลก็จะไหลตามเข้าไปด้วย และน้ำทะเลที่ไหลเข้าไปในแผ่นดินนี่แหละจะไปทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นอย่างมหาศาล

     ทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย Bert Wouters จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ได้ทำการวัดความสูงของแผ่นน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์คติก โดยใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องมือวัด ซึ่งในที่นี้เลือกใช้ดาวเทียม CryoSat-2 ขององค์การอวกาศยุโรป โคจรที่ความสูง 700 กิโลเมตรจากโลก หลักการทำงานก็คือ ดาวเทียมจะส่งคลื่นพัลซ์ลงมากระทบบนผิวน้ำแข็งและจับเวลาที่คลื่นเดินทางตั้งแต่ส่งออกไปจนถึงเวลาที่คลื่นกลับมาถึงดาวเทียม จากข้อมูลเวลาที่ใช้ในการเดินทางของคลื่นพัลซ์ ทำให้นักวิจัยสามารถวัดความสูงของแผ่นน้ำแข็งได้ และหลังจากการเก็บข้อมูลมากว่า 5 ปี ทีมนักวิจัยพบว่าแผ่นน้ำแข็งดังกล่าวได้บางลงถึง 4 เมตร หรือ 13 ฟุต ต่อปี

     โดยมวลน้ำแข็งที่สูญเสียไปนั้นถือว่าเป็นน้ำแข็งปริมาณมหาศาลมาก และยิ่งไปกว่านั้นมันยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกี่ยวกับสนามแรงโน้มถ่วงของโลก ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสนามแรงโน้มถ่วงของโลกถูกค้นพบโดยการทดลองในโครงการ Gravity Recovery and Climate Experiment หรือโครงการ GRACE ของ NASA โดยการทดลองนี้จะทำการวัดค่าแรงโน้มถ่วงด้วยดาวเทียมที่อยู่สูงขึ้นไป 500 กิโลเมตร จำนวน 2 ดวง แล้วนำข้อมูลนั้นมาสร้างเป็นแผนภาพสนามโน้มถ่วง

g001_eigen-grace01_deg70
(แผนภาพสนามแรงโน้มถ่วงที่สร้างขึ้นโดย GRACE)

     หลายปีที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงใดๆ บนแผ่นน้ำแข็งดังกล่าว แต่เมื่อราวๆ ปี 2009 เราพบว่าธารน้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลาย ไม่ใช่แค่ค่อยๆ ละลาย แต่เป็นการละลายที่มีอัตราการละลายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มันเติมน้ำให้มหาสมุทรกว่า 55 ล้านล้านลิตรต่อปี ถ้านับตั้งแต่ปี 2009 ถึงปีนี้ ก็หมายความว่าน้ำทะเลถูกเติมด้วยน้ำจืดไปแล้ถึง 300 ล้านล้านลิตร
“นั่นเทียบเท่ากับปริมาตรตึก Empire State 350,000 หลังรวมกันเลยทีเดียว” Wouters กล่าว

     ทีมนักวิจัยคิดว่า มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นในปัจจุบัน เหมือนเป็นผลกระทบจากมนุษย์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของภาพอากาศ ทำให้ลมที่ไหลเวียนตามปกติ พัดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และพัดพาเอาน้ำอุ่นไปหลอมละลายน้ำแข็งให้ละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม

“เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในขั้วโลกใต้แล้ว คาบสมุทร Antarctica Peninsula ค่อนข้างที่จะถูกศึกษามากที่สุด”
“เพราะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันทำให้พวกเราประหลาดใจ”
Wouters กล่าว

  สรุปคือ ในขณะที่ธารน้ำแข็งทั่วไปเริ่มละลายลง และนักวิทยาศาสตร์สามารถสังเกตได้จากการหดหายไปของธารน้ำแข็ง แต่น้ำแข็งในเขต Antarctica Peninsula กลับไม่มีทีท่าว่าจะหดหายเหมือนธารน้ำแข็งที่อื่น นักวิจัยจึงได้ศึกษาเกี่ยวกับธารน้ำแข็งในเขตนี้ และพบว่ามันละลายจากข้างล่าง ที่เกิดจากภูมิประเทศลาดเอียงเข้าไปในแผ่นดิน ทำให้น้ำทะเลไหลลอดแผ่นน้ำแข็งเข้าไปกัดเซาะข้างใต้ และพบว่าปริมาณน้ำแข็งที่ละลายออกมานั้นมากมายมหาศาลกว่าธารน้ำแข็งใดๆ เสียอีก

ลิ้งค์ต้นฉบับ : Even Antarctica’s Stable Ice is Melting Fast