นักวทิยาศาสตร์คาดการณ์ว่าน้ำแข็งบนเขาเอเวอร์เรสต์​อาจจะหมดไปภายในศตวรรษนี้

บทความโดย : Josh L Davis
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


การปีนเขาที่เทือกเขาหิมาลัย คือสิ่งที่หลายๆ คนอยากจะทำ และด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอันเนื่องมาจากธารน้ำแข็งที่กัดเซาะหุบเขา ตั้งแต่ยอดเขาลงมาจนถึงเนินเขาด้านล่าง และธารน้ำแข็งนั้นไม่เพียงแต่ขัดเกลาภูมิประเทศให้สวยงาม แต่มันยังส่งผลไปถึงวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย แต่จากที่ทราบกันอยู่แล้วว่าถ้าเรายังเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลกันอย่างไม่บันยะบันยัง เฉกเช่นที่เรากำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ ความสวยงามเหล่านี้คงจะอยู่ได้อีกไม่นาน

มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้สร้างแบบจำลองการสูญเสียน้ำแข็งขึ้นมา เฉพาะในเขตภูเขาเอเวอร์เรสต์เท่านั้น ยังไม่รวมเทือกเขาหิมาลัยทั้งหมด เมื่อพวกเขาได้ทดลองใส่ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก  และอัตราการเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลงไป พบว่าปริมาตรของธารน้ำแข็งที่ลดลงไปอาจมากถึง 70% ถึง 99% ของธารน้ำแข็งทั้งหมด และดูเหมือนว่าเอเวอร์เรสต์จะเริ่มสูญเสียน้ำแข็งขนาดมหึมาในทศวรรษหน้านี้

“สัญญาณบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในอนาคตในเขตนี้มันชัดเจนแล้ว และอัตราการสูญเสียน้ำแข็งอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเหมือนที่ได้คาดการณ์ไว้ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ” Joseph Shea ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจาก International Centre for Integrated Mountain Development ได้กล่าวไว้ ในรายงานผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงบนนิตยสาร The Cryosphere

นั้นหมายความว่ามันคือเรื่องที่ใหญ่โตมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ธารน้ำแข็งดังกล่าวนั้นมีปริมาณน้ำแข็งมากที่สุดจากธารน้ำแข็งทั่วโลก ถ้าไม่นับรวมธารน้ำแข็งที่ขั้วโลก และทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของมันจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะในเรื่องของน้ำกินน้ำใช้ น้ำที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และการเกษตร “ในบรรดาธารน้ำแข็งทั้งหลายที่อยู่รอบๆ เอเวอร์เรสต์นี้ มีธารน้ำแข็งหนึ่งชื่อว่า Dudh Kosi น้ำที่ละลายมาจากธารน้ำแข็งนี้ จะรวมกันเป็นแม่น้ำ Kosi และการที่ธารน้ำแข็งหายไปนั้น มันส่งผลกระทบต่อเขตลุ่มแม่น้ำแน่นอน” Shea อธิบายเพิ่มเติม

และการที่ธารน้ำแข็งละลายยังเป็นสาเหตุของหิมะถล่ม แผ่นดินไหว และเกิดทะเลสาบขึ้น ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้เขื่อนหลายเขื่อนบริเวณนั้นพังทลายได้ ในขณะเดียวกันธารน้ำแข็งที่ละลายจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแถวนั้นเพิ่มมากขึ้นถึง 100 เท่าจากปกติ นั่นอาจหมายถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ประชากรท้องถิ่นที่นี่ได้ฝากชีวิตไว้กับน้ำที่ละลายมาจากธารน้ำแข็งเพื่อที่จะอยู่รอดในฤดูแล้ง เพื่อรอฤดูมรสุมกลับมาอีกครั้ง ในขณะที่น้ำในแม่น้ำก็มากพออยู่แล้วจากการละลายของน้ำแข็ง Shea บอกว่านั่นจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 50 ปี ของสถานีอากาศในเขตดังกล่าว เพื่อทดสอบและเปรียบเทียบว่าโปรแกรมพยากรณ์ของพวกเขาทำนายได้ถูกต้องหรือไม่ และได้นำข้อมูลเหล่านี้มาช่วยเพิ่มความแม่นยำของโปรแกรม จากนั้นพวกเขาได้ใส่ค่าอุณภูมิในปัจจุบันลงไป พบว่าจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ทั้งปริมาณหิมะ ฝน และอัตราการละลายของน้ำแข็ง

“เพื่อตรวจสอบความแม่นยำของโปรแกรมนี้ เราได้ใส่ค่าอุณหภูมิย้อนหลังเพื่อเปรียบเทียบถึง 8 ค่าด้วยกัน และยังเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในอดีตกับอุณหภูมิในตอนนั้นอีกด้วย” Walter Immerzeel ผู้เขียนร่วมในการศึกษาครั้งนี้จากมหาวิทยาลัย Utrecht University ประเทศเนเธอแลนด์ พวกเขาพบว่าในปี 2100 น้ำแข็งจะหายไปจนเกือบหมด

ลิ้งค์อ้างอิง : Scientists Predict Everest Could Be Ice-Free By The End Of This Century

มาดูสัตว์ทะเลที่เพิ่งถูกค้นพบนอกชายฝั่งเปอร์โตริโกกัน

บทความโดย Morenike Adebayo เมื่อ 29 พ.ค. 2015
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


จากการสำรวจทะเล Puerto Rican ที่ความลึกจนแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง โดยนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก พวกเขาได้เจอกับสัตว์ทะเลมากมายที่ยังไม่ถูกค้นพบมาก่อน

นักวิทยาศาสตร์ได้ถ่ายวิดีโอพวกมันไว้ (คลิปด้านล่าง) และถ่ายทอดสดออนไลน์ โดยนำกล้องไปติดกับโดรนดำน้ำที่ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลอีกที เพื่อการดำน้ำลงไปในส่วนที่ลึกกว่าคนทั่วไปจะดำลงไปได้

พวกเขายังมีห้องแชทบทอินเทอร์เน็ตเพื่อถามตอบพูดคุยเกี่ยวกับการสำรวจนี้ พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาทางทะเล สมุทรศาสตร์ และอนุกรมวิธาน

“พวกเราสามารถเชื่อมต่อกับนักวิทยาศาสตร์ได้ถึง 40 คนต่อวัน” Andrea Quattrini กล่าว

มาดูสัตว์ทะเลสีสันสดใสเหล่านี้จากคลิปวิดีโอนี้เลยครับ (คลิปวิดีโอโดย Quartz)

URL อ้างอิง : Newly Discovered, Unnamed Deep Sea Creatures Found Off The Coast Of Puerto Rico

มารู้จักกับเจ้ากบหน้าหงุดหงิดกันเถอะ

บทความโดย : Lindsey Robertson เมื่อ 11 ก.ย. 2014
จาก : thedodo.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


จากที่เห็นหน้าตาของมันดูหงุดหงิดเอาการ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ดุอะไรขนาดนั้น เจ้ากบตัวนี้มีชื่อว่า “Black Rain Frog” เจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีใบหน้าหงุดหงิดนี้ มีปุ่มที่น่าเกลียดน่ากลัวอยู่รอบๆ ตัวมัน ดูจากสีหน้าแล้วมันคงไม่ชอบผิวตัวเองสักเท่าไหร่

เจ้า Black Rain Frog นี้คือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่อาศัยอยู่ในหลุมหรือโพรง มีถิ่นกำเนิดและอยู่อาศัยที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของแอฟริกา มันมีกลิ่นตัวที่ค่อนข้างเหม็น เจ้ากบชนิดนี้มักจะขุดหลุมเพื่ออยู่อาศัย ลึกประมาณ 150 มิลลิเมตร

เห็นหน้าบึ้งอย่างนี้จริงๆ แล้วเจ้ากบชนิดนี้มันเป็นกบที่รักเดียวใจเดียวมาก เพราะมันค่อนข้างเอาใจใส่คู่รักของมัน และตัวเมียนั้นจะมีสารประกอบลึกลับที่มีความเหนียวหนึบออกมาจากหลังของมัน สารเหนียวหนึบนั่นทำให้ตัวผู้ไม่ลื่นไถลลงมาในขณะที่พวกมันกำลังปั่มปั๊มกันอยู่นั่นเอง

ในขณะที่ยังอยู่ในฤดูผสมพันธุ์ เจ้ากบ Black Rain Frog ตัวผู้ จะอยู่แต่ในหลุมของมันเพื่อรักษาไข่ที่ตัวเมียวางไว้ และส่งลูกอ๊อดออกมาสู่โลกภายนอก

เจ้ากบชนิดนี้มีกลไกการป้องกันตัวที่วิเศษสุดๆ ไปเลย ในกรณีที่พวกมันถูกโจมดี เมื่อบางคนกำลังกลัวมันและกำลังจะจับมันไปทิ้ง มันจะพองตัวออกด้วยอากาศ เพื่อที่จะทำให้มันตุ้ยนุ้ยมากขึ้นและดูน่าเกรงขาม ในบางครั้งมันทำแบบนี้ขณะอยู่ในหลุม จึงเป็นการยากที่จะจับมันออกมาจากหลุมของมัน ฉะนั้นจุดจบของมันจึงเหมือนกับลูกโป่งติดหลุม

เป็นการยากที่จะไปทำให้มันยิ้ม แต่นั่นแหละคือความน่ารักของมันเลยล่ะ เจ้ากบ Black Rain Frog นั้นพิสูจน์ให้เห็นว่ามีสัตว์อีกตั้งมากมายที่เรายังไม่เคยเห็นกับตาตัวเอง

URL อ้างอิง : Meet The World’s Grumpiest Frog

หน้าตาของแต่ละประเทศเมื่ออยู่บนมหาทวีป Pangea

บทความโดย : Morenike Adebayo เมื่อ 29 พ.ค. 2015
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


ลองจินตนาการว่าคุณกำลังเดินทางจากประเทศจีนไปยังสหรัฐอเมริกา ผ่านแคนนาดา บราซิล และอินเดียโดยที่ไม่ต้องผ่านทะเลเลย มันคงจะดีมากเลย แต่เสียใจด้วยเพราะคุณพลาดโอกาสนั้นไปแล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน และเมื่อวันเวลาผ่านไปนับล้านปี มหาทวีปแพนเจียก็ไต้แตกออกเป็นทวีปต่างๆ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ต้องขอแสดงความขอบคุณไปยังคุณ Massimo Pietrobon ที่สร้างแบบจำลองขึ้นมา ทำให้เราได้เห็นทวีปแพนเจียก่อนที่มันจะแตกตัวออกเมื่อ 200 ล้านปีที่แล้ว จนกลายเป็นทวีปและประเทศในปัจจุบัน

สามารถคลิกเข้าไปดูภาพขนาดใหญ่ได้ที่รูปข้างล่างนี้เลยครับ


มหาทวีปนี้ถูกล้อมรอบโดยอภิมหาสมุทรทรที่เรียกว่า “พันธาลาสซา” โดยแผ่นดินส่วนใหญ่จะอยู่ที่ซีกโลกใต้ซึ่งดูไม่เหมือนปัจจุบันที่แผ่นดินส่วนใหญ่อยู่บนซีกโลกเหนือ

หลักฐานที่บ่งบอกว่าโลกเคยมีทวีปแพนเจียมาก่อน ก็คือการค้นพบฟอสซิลที่มีลักษณะเหมือนกัน อย่างเช่นฟอสซิลของ เทอแรปซิด ไลซ์โตรซอรัส และลักษณะของหินที่คล้ายคลึงกัน ระหว่างชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาใต้ และชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา

รู้หรือไม่ว่าควันจากเทียนสามารถติดไฟได้

บทความโดย Morenike Adebayo เมื่อ 26 พ.ค. 2015
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : Dark Scientist


นี่คือการเป่าเทียนให้ดับ และทำให้มันติดขึ้นมาอีกครั้งโดยไม่ให้เปลวไฟไปแตะต้องเทียน และนี่ไม่ใช่เวทย์มนต์หรือมายากล แต่มันคือวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของเคมี

หยิบเทียนขึ้นมาแล้วจุดมัน เปลวไฟที่ปรากฎขึ้นมานั้นเกิดจากการเผาไหม้ของไอขี้ผึ้งรอบๆ ไส้เทียน และเมื่อคุณทำให้มันดับลง คุณจะเห็นควันจางๆ เส้นเล็กๆ ที่ดูแล้วรู้สึกหดหู่ แต่เดียวก่อน! ควันนั้นเกิดจากการที่ขี้ผึ้งเหลวเจอกับไส้เทียนร้อนๆ แต่ร้อนไม่พอที่จะทำให้มันลุกเป็นไฟได้ มันจึงจะเหยออกมาเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งไอขี้ผึ้งที่ระเหยขึ้นมาจากไส้เทียนในตอนนี้แทบจะไม่ต่างอะไรกับก๊าซหุ้งต้ม เมื่อคุณจุดไฟใส่ควันนั่นเร็วมากพอก่อนที่มันจะหายไป ไอขี้ผึ้งนั้นก็จะติดไฟและลามลงมาจนถึงไส้เทียน และเทียนของคุณก็จะติดไฟอีกครั้ง

ผู้ใช้ Youtube ชื่อ brusspup ได้แสดงให้เห็นถึงวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในมายากลชิ้นนี้ในวิดีโอด้านล่าง

ความลับที่อยู่ลึกเข้าไปในรังผึ้ง นี่อาจเป็นครั้งแรกที่คุณเห็นตัวอ่อนของผึ้งออกจากไข่

บทความโดย : Morenike Adebayo เมื่อ 22 ส.ค. 2558
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย


คุณเคยเห็นผึ้งขณะที่มันยังเป็นตัวอ่อนอยู่รึเปล่า ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นแน่นอน เพราะมันถูกดูแลและรักษาอย่างมิดชิดในส่วนที่ลึกเข้าไปของรังผึ้ง เหล่าผึ้งได้ใช้รังของมันเก็บเกสรดอกไม้ น้ำหวาน รวมไปถึงไข่ ตัวอ่อน และดักแต้ และช่างภาพ Anand Varma ได้สนใจเกี่ยวกับชีวิตของผึ้งในส่วนที่ลึกเข้าไปของรังผึ้ง ที่เรามักไม่พบเห็นได้ทั่วๆ ไป เขาพยายามสร้างรังผึ้งขนาดมินิขึ้นมาในห้องทดลองกลางแจ้งของเขา เพื่อศึกษาความลับของชีวิตผึ้งที่พวกเราไม่เคยได้รู้

และวิดีโอไทม์แลปส์อันน่าทึ่งนี้ได้ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อ National Geographic โดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จนกระทั่งกลายเป็นตัวเต็มวัย

มินิโปรเจคของ Varma ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เพิ่งหัดเลี้ยงผึ้งเช่นนี้ โดยครั้งแรกที่ทำเขาพยายามสร้างรังผึ้งขึ้นมาถึงสองสามครั้ง โดยครั้งแรกเขาได้จัดแจงถ่ายวิดีโอในส่วนของการกินอาหารของตัวอ่อนก่อน แต่มันไม่สามารถทำสำเร็จได้ในครั้งแรกครั้งเดียว เขาพยายามแล้วพยายามอีก จนในที่สุดเวลาผ่านไป 6 เดือน เขาจึงสามารถปรับอุณภูมิและความชื้นให้เหมาะสมกับพวกผึ้งได้

“ครั้งแรกที่ผมทำงานนี้ ผมชอบมันมาก ‘โอ้พระเจ้า นี่มันเจ๋งสุดๆ ไปเลย ผมสามารถถ่ายทุกขั้นตอนของพวกมันได้’” Varma กล่าวขณะถ่ายทำรายการ National Geographic.

โดยธรรมชาติแล้ว นางพญาผึ้งจะวางไข่ 1 ใบต่อ 1 หลอดของรังฟักตัวอ่อน และไข่จะถูกยึดติดกับรังด้วยน้ำเมือก หลักจากนั้น 3 วัน ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท และส่วนห่อหุ้มร่างกายจะถูกสร้างขึ้น และหลังจากนั้น 3 วันไข่ก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน จากนั้นผึ้งงานก็จะเข้ามาให้อาหารพวกมัน โดยอาหารที่ผึ้งให้ตัวอ่อนกินได้แก่น้ำผึ้งและนมผึ้ง ในระยะนี้ตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าว มีปากที่เล็กจิ๋ว ก่อนที่จะมีหนวดงอกออกมา ตามมาด้วยตา ขา และปีก และพวกมันจะได้รับอาหารอันทรงคุณค่านี้จนกระทั่งพวกมันกลายเป็นผึ้งงานตัวเต็มวัย ผึ้งตัวผู้หรือผึ้งโดรน และถ้าตัวไหนโชคดีมันอาจจะได้เป็นนางพญาตัวต่อไป

ที่มา : Watch This Fascinating Time-Lapse Of Hatching Bees

เมื่อคุณรู้จักกับหนอนตัวนี้แล้ว ท้องทะเลในฝันของคุณจะเปลี่ยนไป

บทความโดย : Stephen Luntz เมื่อ 18 ส.ค. 2557
จาก : iflscience.com
แปลและเรียบเรียงโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย


Bobbit worm
photo credit: DreamOfShadows http://bit.ly/1ldzPUx

นี่ดูเหมือนกับว่ามันหลุดออกมาจากหนังไซไฟ แต่สำหรับปลาในทะเลแล้ว Eunice aphroditois (ชื่อวิทยาศาสตร์) คือเรื่องจริงที่พวกมันต้องเจอ เจ้าสัตว์ประหลาดนี้มีชื่อเล่นว่า Bobbit worm มันมีอาวุธและวิธีมากมายที่จะใช้ฆ่าเหยื่อของมัน นั่นรวมไปถึงเขี้ยวของมันที่จะตัดเหยื่อขาดเป็นสองท่อน หรือแม้กระทั่งพ่นพิษใส่เหยื่อเพื่อที่จะได้กินง่ายๆ พวกมันสามารถพบได้ทั่วไปในเขตน้ำอุ่น ที่ความลึกราวๆ 150 เมตร และยังพบได้ทั่วโลกอีกด้วย

ในกรณีนี้คุณอาจจะคิดว่า “มันคงเป็นอะไรที่น่ากลัว แต่แค่สำหรับพวกปลาน่ะ ฉันคงไม่ต้องกังวลอะไรกับมันหรอก” แต่คุณทราบไหมว่าเจ้าสัตว์ประหลาดนี้สามารถเจริญเติบโตจนมีความยาวได้ถึง 3 เมตร เลยนะ ยาวพอที่จะจับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าพวกมัน นอกจากส่วนหัวของมันที่เราเห็นขณะมันโจมตีเหยื่อ ส่วนที่เหลือของมันจะอยู่ใต้ผิวทรายลงไปนิดเดียว เพื่ออำพรางและเป็นเรดาร์ให้มันรับรู้เวลามีเหยื่อเข้ามาใกล้ เพราะการพรางตัวแบบนี้นี่เองจึงสร้างปริศนาให้อความเรียมบางแห่งที่ว่าปลาหายไปโดยไม่รู้สาเหตุ เคยมีกรณีที่ว่าอควาเรียมบางแห่งที่อยู่ๆ ปลาเล็กปลาน้อยก็หายไปอย่างไม่มีสาเหตุ จนเจ้าหน้าที่ตัดสินใจล้างตู้ปลาแล้วก็ได้พบกับเจ้าหนอนบ๊อบบิทนอนอิ่มอยู่ใต้ผืนทรายนั่นเอง โดยตัวที่เจ้าหน้าที่ไปพบเข้านั้นมีความยาวถึง 150 ฟุต หรือประมาณ 5 เมตรเลยทีเดียว !!!

Photo: BPM MEDIA
Photo: BPM MEDIA

(นี่ก็คือภาพเจ้าหนอนบ๊อบบิท ที่เจ้าหน้าที่พบในอควาเรียม)

ในคลิปด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงตอนที่มันกำลังดักรอจับเหยื่อ และเขมือบเหยื่อของมัน

เคยเห็นกองทรายรูปร่างประหลาดเหล่านี้ไหม แท้จริงแล้วมันคือฝีมือของปลาปักเป้า

บทความโดย : Lisa Raffensperger เมื่อ 15 ส.ค. 2556
จาก : Discovermagazine.com
แปลและเรียบเรียงโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย


     มันถูกเรียกว่าครอปเซอร์เคิลแห่งท้องทะเล มีความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 7 ฟุต รูปแบบเซอร์เคิลดังกล่าวถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1995 ที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น แต่การค้นพบครั้งแรกได้สร้างปริศนาและความฮือฮาเป็นอย่างมาก นักดำน้ำท้องถิ่นเรียกมันว่าวงกลมลึกลับ

crop-circle

     และมันยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปี 2011 จึงพบเจอกับที่มาของวงกลมนี้เมื่อมีคนพบเห็นปลาปักเป้าตัวผู้ที่มีขนาดเพียง 5 นิ้ว กำลังสร้างวงกลมปริศนา และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาถึงกระบวนการการออกแบบและสร้างสรรค์ประติมากรรมชั้นเลิศนี้ และพบว่าพวกมันสร้างขึ้นมาเพื่อล่อตัวเมีย

    นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า “Finned Digger” (หรือนักขุดโดยใช้ครีบ)

     ทีมนักวิจัยได้สำรวจวงกลมที่ถูกสร้างขึ้นมา 10 หลุม มันถูกสร้างจากปลาปักเป้าตัวผู้ โดยปลาปักเป้าตัวผู้แต่ละตัวจะใช้เวลา 7 ถึง 9 วัน ในการสร้างวงกลมอันสวยงามนี้ พวกมันแต่ละตัวว่ายน้ำไปมา เข้าออก เข้าออก ภายในวงกลม ทำซ้ำๆ อย่างนี้ และใช้ครีบกระพือน้ำเพื่อขุดทรายขึ้นมา จนเกิดเป็นร่องและออกมาเป็นครอปเซอร์เคิลที่สวยงาม ดังที่เห็นในวิดีโอข้างล่างนี้

     พวกมันใส่ใจในความสวยงามของวงกลมอย่างมาก มันถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน เพราะนักสำรวจพบว่ามันไม่เพียงแต่สร้างวงกลมปริศนาขึ้นมาเท่านั้น พวกมันยังตกแต่งสันทรายรอบๆ วงกลมนั้น ด้วยเปลือกหอยและชิ้นส่วนประการัง และยังพบสาเหตุที่วงกลมออกมาเป็นรูปแบบเช่นนี้ เพราะตัวผู้นั้นจะทำการกวนน้ำให้ขุ่นรอบๆ วงกลมนั้น และรอให้ทรายหยาบตกตะกอนลงไปก่อน จากนั้นมันจะพัดเอาทราบละเอียดเข้าไปไว้ตรงกลางของวงกลม เพื่อสร้างเป็นรังของมันนั้นเอง

     วงกลมนี้มีส่วนสำคัญมากในการสร้างความบันเทิงเริงใจให้กับปลาปักเป้ตัวเมีย เมื่อตัวผู้เห็นว่าตัวเมียกำลังเข้ามาในเขตของมัน มันจะพัดทรายที่ตรงกลางของวงกลมให้ฟุ้งขึ้นมา และไปหลบอยู่ข้างหลัง จากนั้นมันจะกระโจนออกมาจากฝุ่นทรายอย่างรวดเร็ว เพื่อโชว์ให้ตัวเมียเห็นว่ารังนี้ทรายละเอียดและนุ่มมาก และเมื่อตัวเมียตัดสินใจแล้วว่านี่คือคู่ที่เหมาะสมของมัน มันจะเข้าไปวางไข่ที่ตรงกลางของวงกลม นักวิจัยรายงานเช่นนั้น

ลิ้งค์ต้นฉบับ : The Mystery of Underwater Crop Circles, Explained

ธารน้ำแข็งที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าละลายช้า แท้จริงแล้วมันละลายเร็วกว่าที่คิด

บทความโดย : Janet Fang เมื่อ 22 พ.ค. 2558
จาก : www.iflscience.com
แปลโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย


     ณ คาบสมุทร Antarctic Peninsula ที่ขั้วโลกใต้ กำลังประสบกับปัญหาการสูญเสียมวลน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว ธารน้ำแข็งในบริเวณดังกล่าวเริ่มไม่เสถียรตั้งแต่ปี 2009 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมามันละลายเร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้นเรื่อยๆ ตามที่บทความวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ได้ตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้บอกว่า น้ำ 56 พันล้านตัน ถูกเติมลงสู่มหาสมุทรทุกๆ ปี

Screen Shot 2558-05-25 at 02.44.56
(ภายในกรอบสีแดงคือบริเวณที่เรียกว่า Antarctic Peninsula)

     ภายใน 20 ปีที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในเขตอบอุ่นได้บางลงถึง 1 ใน 5 ของความหนาทั้งหมดของมัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักวิจัยได้เปิดเผยว่าธารน้ำแข็ง Larsen C หนึ่งในธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอนตาร์คติกา กำลังบางลงเรื่อยๆ จากอากาศและน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น และดูเหมือนว่ามันจะพังทลายลงทั้งหมดภายในหนึ่งศตวรรษ

     มวลของธารน้ำแข็งส่วนที่ยื่นออกไปในทะเล ที่คาบสมุทร Antarctic Peninsula เป็นตัวช่วยที่สำคัญมากในการค้ำจุนธารน้ำแข็งที่อยู่บนบกให้ไหลลงสู่มหาสมุทรช้าลง และธารน้ำแข็งที่เบาบางลงนั้น อาจจะทำให้แรงเสียดทานที่ว่าลดลงไปด้วย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะธารน้ำแข็งเหล่านั้นกองทับกันอยู่บนแผ่นหินที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และมันยังเอียงเข้าไปในแผ่นทวีปอีกด้วย นี่แหละที่สำคัญ เพราะนั่นหมายความว่าธารน้ำแข็งจะไหลกลับเข้าไปในแผ่นดิน จากนั้นน้ำทะเลก็จะไหลตามเข้าไปด้วย และน้ำทะเลที่ไหลเข้าไปในแผ่นดินนี่แหละจะไปทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นอย่างมหาศาล

     ทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย Bert Wouters จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ได้ทำการวัดความสูงของแผ่นน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์คติก โดยใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องมือวัด ซึ่งในที่นี้เลือกใช้ดาวเทียม CryoSat-2 ขององค์การอวกาศยุโรป โคจรที่ความสูง 700 กิโลเมตรจากโลก หลักการทำงานก็คือ ดาวเทียมจะส่งคลื่นพัลซ์ลงมากระทบบนผิวน้ำแข็งและจับเวลาที่คลื่นเดินทางตั้งแต่ส่งออกไปจนถึงเวลาที่คลื่นกลับมาถึงดาวเทียม จากข้อมูลเวลาที่ใช้ในการเดินทางของคลื่นพัลซ์ ทำให้นักวิจัยสามารถวัดความสูงของแผ่นน้ำแข็งได้ และหลังจากการเก็บข้อมูลมากว่า 5 ปี ทีมนักวิจัยพบว่าแผ่นน้ำแข็งดังกล่าวได้บางลงถึง 4 เมตร หรือ 13 ฟุต ต่อปี

     โดยมวลน้ำแข็งที่สูญเสียไปนั้นถือว่าเป็นน้ำแข็งปริมาณมหาศาลมาก และยิ่งไปกว่านั้นมันยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกี่ยวกับสนามแรงโน้มถ่วงของโลก ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสนามแรงโน้มถ่วงของโลกถูกค้นพบโดยการทดลองในโครงการ Gravity Recovery and Climate Experiment หรือโครงการ GRACE ของ NASA โดยการทดลองนี้จะทำการวัดค่าแรงโน้มถ่วงด้วยดาวเทียมที่อยู่สูงขึ้นไป 500 กิโลเมตร จำนวน 2 ดวง แล้วนำข้อมูลนั้นมาสร้างเป็นแผนภาพสนามโน้มถ่วง

g001_eigen-grace01_deg70
(แผนภาพสนามแรงโน้มถ่วงที่สร้างขึ้นโดย GRACE)

     หลายปีที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงใดๆ บนแผ่นน้ำแข็งดังกล่าว แต่เมื่อราวๆ ปี 2009 เราพบว่าธารน้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลาย ไม่ใช่แค่ค่อยๆ ละลาย แต่เป็นการละลายที่มีอัตราการละลายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มันเติมน้ำให้มหาสมุทรกว่า 55 ล้านล้านลิตรต่อปี ถ้านับตั้งแต่ปี 2009 ถึงปีนี้ ก็หมายความว่าน้ำทะเลถูกเติมด้วยน้ำจืดไปแล้ถึง 300 ล้านล้านลิตร
“นั่นเทียบเท่ากับปริมาตรตึก Empire State 350,000 หลังรวมกันเลยทีเดียว” Wouters กล่าว

     ทีมนักวิจัยคิดว่า มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นในปัจจุบัน เหมือนเป็นผลกระทบจากมนุษย์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของภาพอากาศ ทำให้ลมที่ไหลเวียนตามปกติ พัดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และพัดพาเอาน้ำอุ่นไปหลอมละลายน้ำแข็งให้ละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม

“เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในขั้วโลกใต้แล้ว คาบสมุทร Antarctica Peninsula ค่อนข้างที่จะถูกศึกษามากที่สุด”
“เพราะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันทำให้พวกเราประหลาดใจ”
Wouters กล่าว

  สรุปคือ ในขณะที่ธารน้ำแข็งทั่วไปเริ่มละลายลง และนักวิทยาศาสตร์สามารถสังเกตได้จากการหดหายไปของธารน้ำแข็ง แต่น้ำแข็งในเขต Antarctica Peninsula กลับไม่มีทีท่าว่าจะหดหายเหมือนธารน้ำแข็งที่อื่น นักวิจัยจึงได้ศึกษาเกี่ยวกับธารน้ำแข็งในเขตนี้ และพบว่ามันละลายจากข้างล่าง ที่เกิดจากภูมิประเทศลาดเอียงเข้าไปในแผ่นดิน ทำให้น้ำทะเลไหลลอดแผ่นน้ำแข็งเข้าไปกัดเซาะข้างใต้ และพบว่าปริมาณน้ำแข็งที่ละลายออกมานั้นมากมายมหาศาลกว่าธารน้ำแข็งใดๆ เสียอีก

ลิ้งค์ต้นฉบับ : Even Antarctica’s Stable Ice is Melting Fast

เมื่อเพชรถูกเผาด้วยออกซิเจนเพียวๆ

บทความโดย : Morenike Adebayo เมื่อ 23 พ.ค. 2558
แปลโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย
ที่มา : www.iflscience.com

“เพชร” สิ่งที่พวกเราคิดว่ามันเป็นมณีทำลายไม่ได้ แต่ก็ไม่เสมอไป อย่างเช่นการทดลองนี้ โดย Dr. Peter Wothers ได้แสดงให้เห็นในวิดีโอนี้ อาจจะทำให้ใครบางคนที่กำลังดูมันมอดไหม้ใจสลายก็เป็นได้

     “เพชร” คือองค์ประกอบที่บริสุทธิ์ที่เกิดจากอะตอมของคาร์บอนเรียงต่อกันด้วยพันธะโควาเลนต์ จากคาร์บอน 1 อะตอม สู่คาร์บอน 4 อะตอม และเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จนเกิดเป็นผลึกเพชรขึ้นมา เรียกได้ว่าเพชรก็คือคาร์บอนเพียวๆ นั่นเอง ซึ่งตามปกติสารที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนถือเป็นวัตถุดิบหลักในการเผาไหม้ แต่ถ้าคุณถือเพชรเม็ดหนึ่งไปเผาด้วยเทียนหรือเปลวไฟทั่วๆ ไป หรือพวกโรคจิตที่ชอบเห็นสิ่งของแพงๆ โดนเผาอาจจะต้องผิดหวัง เพราะมันไม่ไหม้ไฟธรรมดา

     Dr. Wothers ทำการทดลองนี้โดยนำเพชรมาครอบด้วยหลอดแล้วที่มีออกซิเจนเพียวๆ แล้วเผา จะเห็นได้ว่าเพชรนั้นติดไฟลุกวาวเหมือนเอาดวงอาทิตย์มาไว้ในโหลแก้ว

    ถ้าถามว่าเอาเพชรมาจากไหนก็ดูที่คุณผู้หญิงคนนั้นที่ทำหน้าเบ้ไปมาเลยครับ นั่นแหละครับที่มาของเพชร

อ้างอิง http://www.iflscience.com/chemistry/watch-diamond-burn-pure-oxygen