เคยเห็นกองทรายรูปร่างประหลาดเหล่านี้ไหม แท้จริงแล้วมันคือฝีมือของปลาปักเป้า

บทความโดย : Lisa Raffensperger เมื่อ 15 ส.ค. 2556
จาก : Discovermagazine.com
แปลและเรียบเรียงโดย : กิตติศักดิ์ โชครวย


     มันถูกเรียกว่าครอปเซอร์เคิลแห่งท้องทะเล มีความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 7 ฟุต รูปแบบเซอร์เคิลดังกล่าวถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1995 ที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น แต่การค้นพบครั้งแรกได้สร้างปริศนาและความฮือฮาเป็นอย่างมาก นักดำน้ำท้องถิ่นเรียกมันว่าวงกลมลึกลับ

crop-circle

     และมันยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปี 2011 จึงพบเจอกับที่มาของวงกลมนี้เมื่อมีคนพบเห็นปลาปักเป้าตัวผู้ที่มีขนาดเพียง 5 นิ้ว กำลังสร้างวงกลมปริศนา และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาถึงกระบวนการการออกแบบและสร้างสรรค์ประติมากรรมชั้นเลิศนี้ และพบว่าพวกมันสร้างขึ้นมาเพื่อล่อตัวเมีย

    นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า “Finned Digger” (หรือนักขุดโดยใช้ครีบ)

     ทีมนักวิจัยได้สำรวจวงกลมที่ถูกสร้างขึ้นมา 10 หลุม มันถูกสร้างจากปลาปักเป้าตัวผู้ โดยปลาปักเป้าตัวผู้แต่ละตัวจะใช้เวลา 7 ถึง 9 วัน ในการสร้างวงกลมอันสวยงามนี้ พวกมันแต่ละตัวว่ายน้ำไปมา เข้าออก เข้าออก ภายในวงกลม ทำซ้ำๆ อย่างนี้ และใช้ครีบกระพือน้ำเพื่อขุดทรายขึ้นมา จนเกิดเป็นร่องและออกมาเป็นครอปเซอร์เคิลที่สวยงาม ดังที่เห็นในวิดีโอข้างล่างนี้

     พวกมันใส่ใจในความสวยงามของวงกลมอย่างมาก มันถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน เพราะนักสำรวจพบว่ามันไม่เพียงแต่สร้างวงกลมปริศนาขึ้นมาเท่านั้น พวกมันยังตกแต่งสันทรายรอบๆ วงกลมนั้น ด้วยเปลือกหอยและชิ้นส่วนประการัง และยังพบสาเหตุที่วงกลมออกมาเป็นรูปแบบเช่นนี้ เพราะตัวผู้นั้นจะทำการกวนน้ำให้ขุ่นรอบๆ วงกลมนั้น และรอให้ทรายหยาบตกตะกอนลงไปก่อน จากนั้นมันจะพัดเอาทราบละเอียดเข้าไปไว้ตรงกลางของวงกลม เพื่อสร้างเป็นรังของมันนั้นเอง

     วงกลมนี้มีส่วนสำคัญมากในการสร้างความบันเทิงเริงใจให้กับปลาปักเป้ตัวเมีย เมื่อตัวผู้เห็นว่าตัวเมียกำลังเข้ามาในเขตของมัน มันจะพัดทรายที่ตรงกลางของวงกลมให้ฟุ้งขึ้นมา และไปหลบอยู่ข้างหลัง จากนั้นมันจะกระโจนออกมาจากฝุ่นทรายอย่างรวดเร็ว เพื่อโชว์ให้ตัวเมียเห็นว่ารังนี้ทรายละเอียดและนุ่มมาก และเมื่อตัวเมียตัดสินใจแล้วว่านี่คือคู่ที่เหมาะสมของมัน มันจะเข้าไปวางไข่ที่ตรงกลางของวงกลม นักวิจัยรายงานเช่นนั้น

ลิ้งค์ต้นฉบับ : The Mystery of Underwater Crop Circles, Explained

ใส่ความเห็น